สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นการจัดการศึกษาที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัย โดยเน้นให้นิสิตได้รับผิดชอบและปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งในสถานประกอบการที่ร่วมมือกันนั้น นิสิตสหกิจ-ศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการไปปฏิบัติงาน ทำให้ได้รับทราบด้วยตนเองว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบนั้น จำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะใดบ้าง อันจะเป็นแนวทางในการปรับแผนการศึกษาของตนต่อไป นิสิตสหกิจศึกษายังจะได้มีโอกาสพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกับสังคม การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อผู้ร่วมงาน ผู้บริหาร และผู้ใช้บริการ ตลอดจนได้มีโอกาสเรียนรู้ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ความรู้เหล่านี้จะนำมาซึ่งการพัฒนาตนเองของนิสิตก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงต่อไป นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัยในโครงการสหกิจศึกษา ยังจะก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากความร่วมมือด้านการผลิตบัณฑิต อาทิ ความร่วมมือด้านการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยเชิงพัฒนา เป็นต้น
นิสิตสหกิจศึกษาจะเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการในลักษณะพนักงานชั่วคราวที่จะต้องลงมือปฏิบัติงานจริง ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการนี้จะเป็นประสบการณ์ที่นิสิตไม่สามารถเรียนรู้ได้จากภายในห้องเรียน นิสิตจะได้มีโอกาสพัฒนาตนเองทางด้านความคิด การสังเกต การตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ และการประเมินผลอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการพัฒนา ตนเองด้านการจัดเตรียมและนำเสนอรายงานจากประสบการณ์การทำงานที่จะสะท้อนการผสมผสาน
ระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติเข้าด้วยกัน รวมทั้งการมองเห็นแนวทางด้านงานอาชีพของตนเองได้อย่างชัดเจนขึ้น
ด้วยระบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานภาคทฤษฎีเข้ากับภาคปฏิบัติเช่นนี้ จะส่งผลให้นิสิตพัฒนาตนเองเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น และกระบวนการ สหกิจศึกษาจะทำให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างสถานประกอบการกับมหาวิทยาลัย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยสามารถเห็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรให้ดีและเหมาะสมกับโลกของการทำงานได้มากขึ้น ส่วนสถานประกอบการก็มีแรงงานนิสิตร่วมปฏิบัติงานได้ตลอดทั้งปี อันจะนำประโยชน์ให้เกิดกับทั้งสองฝ่าย รวมทั้งสังคมและประเทศชาติโดยรวมอีกด้วย
วัตถุประสงค์
1.2.1 เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ทางด้านอาชีพและการพัฒนาตนเองแก่นิสิต ในรูปแบบของการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพในสถานการณ์จริง
1.2.2 เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรภาครัฐและเอกชน
1.2.3 เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของนิสิตในการประกอบอาชีพและของสถานประกอบการในการพัฒนางาน
1.2.4 เพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ อันเป็นพื้นฐานด้านการพัฒนาวิชาการและด้านอื่น ๆ ต่อไป
ระบบสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยทักษิณ
สหกิจศึกษาในมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นรายวิชาหนึ่งในหมวดวิชาเฉพาะในหลักสูตรสาขาวิชา ต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนหน่วยกิต 6 – 9 หน่วยกิต รายวิชาดังกล่าวกำหนดให้นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนต้องปฏิบัติงานในสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ โดยสถานประกอบการและ/หรือคณะกรรมการสหกิจศึกษาประจำสาขาวิชาเป็นผู้รับผิดชอบคัดเลือกนิสิตที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ
จากข้อกำหนดให้นิสิตที่ลงทะเบียนรายวิชาสหกิจศึกษาต้องไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการเป็นเวลา 1 ภาคเรียน จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษารายวิชานี้ในลักษณะโครงการ ที่เรียกว่า “โครงการสหกิจศึกษา (Cooperative Program)” ซึ่งต้องมีการจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนิสิตที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก การวางแผนการเรียนตลอดหลักสูตรสำหรับนิสิตที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้นิสิตมีภาคเรียนที่ปลอดจากการลงทะเบียนเรียนรายวิชาอื่น ๆ นอกเหนือจากรายวิชาสหกิจศึกษาในชั้นปีที่ 3 หรือชั้นปีที่ 4 อย่างน้อยหนึ่งภาคเรียน ประการที่สอง การจัดการศึกษาหรือกิจกรรมเสริมอื่น ๆ เพื่อให้นิสิตมีความรู้และทักษะเชิงวิชาชีพที่จำเป็นให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ความจำเป็นประการที่สองนี้ ทำให้สถานประกอบการและมหาวิทยาลัยต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งก่อนที่นิสิตจะออกไปปฏิบัติงาน และช่วงที่นิสิตกำลังปฏิบัติงาน ซึ่งการเตรียมการช่วงก่อนที่นิสิตจะออกไปปฏิบัติงาน ถ้าสามารถเตรียมได้ดีก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสถานประกอบการมากขึ้น สถานประกอบการจึงควรกำหนดตำแหน่งงานและภาระงานสำหรับที่จะรับนิสิตในโครงการสหกิจศึกษาไว้ล่วงหน้า และประสานให้มหาวิทยาลัยทราบอย่างชัดเจนว่านิสิตที่เหมาะสมที่จะเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งงานดังกล่าวควรมีความรู้และทักษะเชิงวิชาชีพด้านใดบ้าง มหาวิทยาลัยจักได้เตรียมนิสิตหรือจัดกิจกรรมเสริม (ถ้าจำเป็น) สำหรับนิสิตได้อย่างเหมาะสม
เนื่องจากสหกิจศึกษาเป็นรายวิชาเอกเลือกรายวิชาหนึ่งในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทักษิณ การจัดการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษาจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของคณะและ/หรือภาควิชาที่หลักสูตรนั้น ๆ สังกัด ภารกิจของคณะ/ภาควิชาดังกล่าวประกอบด้วย การสร้างเครือข่ายกับสถานประกอบการที่สนใจร่วมมือในโครงการสหกิจศึกษา รวมทั้งการขยายและส่งเสริมเครือข่ายดังกล่าวให้กว้างขวางและเข้มแข็งขึ้น การส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารโครงการสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัย การประสานความเข้าใจกับนิสิตเพื่อหานิสิตที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ในแต่ละปีการศึกษา การวางแผนการเรียนร่วมกับนิสิตโครงการสหกิจศึกษาเพื่อให้นิสิตมีภาคเรียนว่างสำหรับรายวิชาสหกิจศึกษา การเตรียมความพร้อมนิสิตทั้งด้านการเรียนรายวิชาและการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา การจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับนิสิตแต่ละคนเพื่อนิเทศงานและร่วมประเมินโครงงานและ/หรือร่วมประเมินการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนิสิต
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจการจัดการศึกษารายวิชาสหกิจศึกษาซึ่งมีความหลากหลายทั้งขั้นตอน ลักษณะกิจกรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยจึงจัดให้มี สำนักงานสหกิจศึกษา ทำหน้าที่เป็นจุดติดต่อ (Contact point) และเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการประสานความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและบุคลากรรวมทั้งนิสิตในโครงการสหกิจศึกษาซึ่งกระจายกันอยู่ในหลาย ๆ หลักสูตรในคณะ/ภาควิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งงานสหกิจศึกษาของสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหลักสูตรที่สังกัดต่างคณะกันในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ สำนักงานสหกิจศึกษายังมีหน้าที่จัดทำเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมที่แต่ละหลักสูตรต้องใช้ร่วมกันหรือจำเป็นต้องจัดเช่นเดียวกัน เช่น การจัดประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการและจุดประสงค์ของโครงการสหกิจศึกษาสำหรับนิสิตและผู้แทนจาก สถานประกอบการ การกำหนดขั้นตอน วิธีการ และมาตรฐานการปฏิบัติ เพื่อให้ทุกหลักสูตรใช้เป็นแนวทางร่วมกันในการดำเนินการสหกิจศึกษา เป็นต้น
ลักษณะงานสหกิจศึกษา
นิสิตสหกิจศึกษาเป็นเสมือนพนักงานคนหนึ่งของสถานประกอบการ มีหน้าที่และภารกิจที่รับผิดชอบชัดเจน ปฏิบัติงานในตำแหน่งงานที่สถานประกอบการกำหนดขึ้นและมีภารกิจสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียน ทำงานเต็มเวลา (Full Time) เป็นเวลา 16 สัปดาห์ โดยสถานประกอบการอาจจัด
สวัสดิการหรือจ่ายค่าตอบแทนตามนโยบายของสถานประกอบการนั้น ๆ ตำแหน่งงานสหกิจศึกษาดังกล่าวอาจเป็นตำแหน่งงานประจำแต่เป็นตำแหน่งว่างในสถานประกอบการนั้น หรือเป็นตำแหน่งงานที่ตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวสำหรับโครงการพิเศษหรือโครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการปฏิบัติงานในสถานประกอบการก็ได้